วันรพี
วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยประสูติจากเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไครสต เซิร์ซ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ.2439 หลังจากนั้นทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ ทรงปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เป็นอย่างยิ่ง
การศึกษา
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนัก พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เมื่อทรงผ่านการศึกษาแล้วได้ ทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูราม สามิ และในปี พ.ศ. 2426 ได้ทรงเข้าศึกษา ภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ในปี พ.ศ. 2427 ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรประทับอยู่วัดบวรนิเวศ
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2431ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอยู่ในกรุงลอนดอน 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทรงเลือกศึกษาวิชา กฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช ในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2433 เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัย ไครส์ตเชิช แล้วได้ ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ ทรงสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ
========================================
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นับได้ว่าทรง เป็นนักกฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรมในการใช้กฎหมายเป็นวิชาชีพ ทรงมีส่วนสำคัญมากที่สุดพระองค์หนึ่งในการพัฒนางานด้านกฎหมายในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอีกทั้งทรงเป็นผู้วางรากฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทรงมีผลงานทางกฎหมายมากมายหลายประการ เช่น
-
ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศจากระบบเก่า มาสู่ระบบใหม่ ปรับปรุงศาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง พร้อมทั้งแก้บทกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญาขึ้นใหม่ ทำให้ระบบของศาลยุติธรรมของประเทศไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ
-
ทรงเป็นประธานกรรมการ ยกร่างกฎหมายลักษณะอาญาพุทธศักราช 2451 ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก ต่อมาใน วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2500 ได้มีประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พุทธศักราช 2499 แทน กฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช 2451 นี้นับได้ว่าเป็นพื้นฐานที่มาของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน
-
ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยพระองค์ทรงเป็นครูสอนร่วมกับพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) กรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระองค์เจ้าวัชรีวงษ์ โดยมีผู้สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก
-
ทรงนิพนธ์ตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทรงรวบรวมพระราชบัญญัติบางฉบับ คำพิพากษาบางเรื่อง โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีคำอธิบาย และสารบาญไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังทรงรวบรวมกฎหมายตราสามดวง โดยให้ชื่อว่า "กฎหมายราชบุรี"
-
ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา ซึ่งกรรมการชุดนี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลกรรมการฎีกา" ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศแต่มิได้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมาศาลกรรมการฎีกาได้เปลี่ยนมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน
-
ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้นที่กองลหุโทษ เมื่อ พ.ศ. 2443 สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยได้เสด็จไปสอนวิชาตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บเส้นลายมือด้วยพระองค์เอง ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจทำอยู่ทุกวันนี้
-
ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดินให้ก้าวหน้า เช่น การแก้ปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ ในเรื่องการ ทะเบียนที่ดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 2 ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2459 และฉบับที่ 3 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2462
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 ด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่มีพระชนมายุ
ได้ 47 พรรษา ในวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี บรรดานักกฎหมายไทย อาทิเช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย นิติกร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในทางนิติศาสตร์ทั้งหมดได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" และเรียกวันนี้ว่า
"วันรพี"
แหล่งอ้างอิง :
หนังสือ วันและประเพณีสำคัญ โดย ศิริวรรณ คุ้มโห้
หนังสือ ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก โดย วรนุช อุษณกร
เข้าชม : 3049
|