การศึกษาการอ่านหนังสือของคนไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากรในแต่ละวัยคือ วัยเด็ก (อายุ 6-14 ปี) วัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี)วัยทำงาน(อายุ 25-59 ปี)และผู้สูงอายุ(อายุ 60 ปีขึ้นไป)โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากรปี พ.ศ.2546 และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป สรุปประเด็นที่สำคัญดังนี้
การอ่านหนังสือของคนไทย หมายถึง การอ่านหนังสือทุกประเภทรวมทั้งตำราเรียน ตลอดจนการอ่านจากอินเทอร์เน็ต ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากรปี 2546 และ 2548 พบว่าประชาชนมีแนวโน้มอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.2 ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.1 ในปี 2548 แม้ชายจะมีการอ่านหนังสือมากกว่าหญิง แต่หญิงมีอัตราการเพิ่มของการอ่านหนังสือมากกว่าชาย
ประชากรในเขตเทศบาลมีการอ่านหนังสือมากกว่าประชากรที่อยู่นอกเขตเทศบาลทั้งนี้เนื่องจากมีแหล่งบริการ ร้านจำหน่าย และร้านให้เช่าหนังสืออยู่มากกว่า เมื่อจำแนกการอ่านหนังสือของประชากรตามวัยต่างๆพบว่า ในปี 2548 วัยเด็กมีการอ่านหนังสือมากที่สุด คือร้อยละ 87.7 รองลงมาคือ วันรุ่น(ร้อยละ 83.1)วัยทำงาน (ร้อยละ 65.0)และผู้สูงอายุ(ร้อยละ 37.4)
ประเภทหนังสือที่อ่าน หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุด โดยในปี2548 มีผู้อ่านหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นจากปี 2546 คิดเป็นร้อยละ 27.6 การอ่านหนังสือประเภทตำราเรียนตามหลักสูตรมีการอ่านลดลง จากร้อยละ 40.0 ในปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 34.4 ในปี 2548 นอกจากนี้หนังสือประเภทนิตยสาร วารสาร/เอกสารที่ออกเป็นประจำ ตำรา/หนังสือเกี่ยวกับความรู้ก็ยังมีการอ่านลดลงเช่นกัน
วัยเด็ก อ่านหนังสือประเภทตำราเรียนตามหลักสูตรมากที่สุด เนื่องจากยังอยู่ในวัยของการศึกษาภาคบังคับ รองลงมาคือนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และตำรา/หนังสือเกี่ยวกับความรู้ วัยรุ่น อ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุดถึงร้อยละ 68.9 ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77.5 ในปี 2548 หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือที่วัยทำงานอ่านมากที่สุด คือ มากกว่าร้อยละ 85 ทั้งในปี 2546 และ 2548 หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือที่ผู้สูงอายุนิยมอ่านมากที่สุดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีความสนใจในการอ่านจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 1.7 ในปี 2548
สรุป จากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากร พบว่าประชากรมีแนวโน้มอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น คือจากร้อยละ 61.2 ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.1 ในปี 2548 วัยเด็กมีการอ่านหนังสือมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87.7 รองลงมาคือวัยรุ่น(ร้อยละ 83.1)วัยทำงาน(ร้อยละ 65.0)และผู้สูงอายุ (ร้อยละ 37.4)การไม่อ่านหนังสือของประชากรมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 38.8 ในปี 2546เหลือร้อยละ 30.9 ในปี 2548 ทั้งนี้สาเหตุของการไม่อ่านหนังสือของประชากรมาจากการชอบฟังวิทยุ/ดูทีวีมากกว่าการอ่าน
การอ่านหนังสือนับเป็นปัจจัยและมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ การรับรู้ข่าวสารต่างๆที่ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิต และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดังนั้นหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนควรจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น
เข้าชม : 2052
|