ปีพุทธศักราช 2554หรือ ค.ศ.2011 เปิดศักราชด้วยข่าวคราวความผิดปกติทางธรรมชาติ เริ่มจากนกที่ตกมาตายจำนวนมากในหลายพื้นที่ ตามมาด้วยปลาหลายล้านตัว น้ำหนักเป็นตันๆ ลอยตายเกยตื้นริมฝั่งทะเลในหลายประเทศ กลายเป็นข่าวใหญ่โตให้ติดตามในหนังสือพิมพ์หน้า 1
จากนั้นตามมาด้วยภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินไหว และปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนเวลาที่ควรจะเป็นที่ดินแดนอาทิตย์เที่ยงคืนอย่างนอร์เวย์ ปรากฏการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดการตื่นตัวด้านข้อมูลข่าวสาร ข้ามทวีป ข้ามภาษาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะต่างตระหนักว่ามหันตภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นไม่เลือกชาติพันธุ์ ท้องถิ่น ไม่แบ่งแยกทวีปและเชื้อชาติใดๆ
เหตุนี้เอง งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน หรืองานประจำปีของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติในปีนี้ จึงได้กลายเป็นงานในระดับนานาชาติไป เมื่อมีผู้แสดงเจตจำนงจากหลายประเทศต้องการเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยถึงแนวทางที่เกิดจากการปฏิบัติจริงของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ที่จะมีโอกาสมารวมตัวกันแสดงผลงานและความคืบหน้าของแต่ละคนเพียงปีละครั้ง โดยอาจารย์ยักษ์ได้ตอบรับและเชื้อเชิญชาวต่างชาติจากหลายกลุ่มที่มองเห็นว่าวิกฤตกำลังจะเกิด และตื่นตัวแสวงหาหนทางรอดจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ โดยกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจาก UNEP ที่จะมาดูผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ กลุ่มเพื่อเอเชีย และกลุ่มประเทศแอฟริกา 5-6 ประเทศ ที่กำลังอยู่ในระหว่างทำโครงการความร่วมมือส่งกลุ่มผู้นำเข้าร่วมอบรมเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าเตรียมการทัน กลุ่มนี้จะเข้าอบรมต่อหลังงานมหกรรมฯ ทันที เพราะเขาไม่กล้ารอช้าเนื่องจากเห็นแล้วว่าภัยที่กำลังจ่อเข้ามาระยะประชิด ไม่มีเวลาให้คิดตั้งตัวนาน
เมื่อเป็นดังนี้ ก็เห็นได้ชัดว่าทั่วโลกเขาหวังพึ่งเรา หวังว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่นำลงสู่การปฏิบัติ ทดลองทำจนได้ผลเห็นดีแล้ว จะเป็นแสงสว่าง เป็นทางออกให้พวกเขาได้เดินตาม ย่นระยะเวลาที่มีเหลือน้อยอยู่แล้วให้กระชั้นขึ้น ให้สั้นลง ให้สำเร็จเร็วขึ้น เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ไม่รั้งรอ อาจารย์ยักษ์ก็ต้องรีบเร่งรัดคนของเราภายในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติให้เร่ง “เอาดีออกอวด” แม้ยังไม่ชัดเจน ไม่สมบูรณ์ แต่ก็พอจะเห็นเป็นแนวทางให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมเสริม หรือนำไปปรับประยุกต์ให้เหมาะให้ควรกับแต่ละอาชีพ แต่ละสังคม แต่ละประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีความต่างของท้องถิ่นที่ไม่อาจบอกสูตรสำเร็จให้ไปทำได้ อย่างไรเสียก็ทำได้เพียงอบรมให้เห็นแนวคิด หลักการ และนำไปประยุกต์ใช้
ในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินปีนี้ จึงเป็นการรวมเอาผลงานที่แต่ละคนไปทำมาจากทั้ง 4 ภาค ในประเด็น “เรื่องบ้าน บ้าน ผ่านวิกฤตได้จริง” พร้อมชื่ออังกฤษให้สมกับเป็นงานอินเตอร์ว่า Climate Change Adaptation : The ‘Ground Work’ Solutions ซึ่งหมายถึงทางออกจากวิกฤตแบบที่คนติดดินก็ทำได้ อันนี้อาจารย์ยักษ์ว่าเอาเอง แล้วพอพูดเรื่องบ้าน บ้าน พวกเราชาวกสิกรรมธรรมชาติก็สนุกสนานกันมาก เพราะเป็นเรื่องที่เราทำจริง เรารู้อยู่แล้ว และเรารอดมาแล้ว เราผ่านมาแล้วจากสิ่งที่เราทำจริง แต่ละภาคก็จะขนเอาอารยธรรมของตัวเองมาโชว์ เอาภูมิปัญญาออกอวด เอาวิถีที่ถอดไปจากพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ตลอดจนศาสตร์พระราชาออกมาอวดกัน โดยเน้นไปที่การผ่านวิกฤตต่างๆ ที่ตัวเองต้องเผชิญ อาทิ ภาคเหนือต้องผจญกับวิกฤตหมอกควัน นอกจากจะแสดงอารยธรรมการกิน การอยู่ การละเล่นแบบวิถีคนเหนือแล้ว มีการทำนาขั้นบันได การปลูกแฝก ทำฝายแล้ว ก็ยังมีการรวมวิถีบ้าน บ้าน ทั้งหลายที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า ซึ่งทำได้แล้ว ทำจริงแล้ว
ภาคอีสานที่เดี๋ยวจะต้องเจอกับภัยแล้งซ้ำซาก หลังจากท่วมซ้ำซ้อนมาแล้ว พวกเขาจะนำเอาวิถีอีสาน การทำนาแบบนาข้าวแห้ง ปลูกข้าวในพื้นที่ภัยแล้งก็ทำได้ และทำมาแล้วในสมัยก่อน และที่คนอีสานจะเน้นย้ำมากในปีนี้ คือ เรื่องของ “โพน” หรือที่ดินหัวไร่ ปลายนา ที่เมื่อก่อนเคยเป็นที่หาหนู หางู เพราะเป็นดินจอมปลวกที่ทั้งงูและหนูชื่นชอบ คนอีสานเลยได้อานิสงส์คืออาหารจากโพนตามท้องนา แต่เดี๋ยวนี้โพนหายไปหมดจากนาอีสาน ถามไถ่ไปก็เหลือแต่โพนในความทรงจำ คนอีสานเลยจะลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิด “การอนุรักษ์โพน แหล่งความมั่นคงทางอาหารและน้ำของคนอีสาน” แต่ไม่ได้เรียกร้องกับใครนะครับ เรียกร้องกับตัวเองและพวกพ้องตามวิถีบ้าน บ้าน ของเรา เพราะเราเชื่อตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ใครจะว่าเราเชยก็ช่างเขา ขอให้อยู่แบบพอมีพอกิน มีความสุข และมีไมตรีจิตต่อกัน” เพราะเราเชื่อมั่นว่า ที่จริงแล้วไม่ได้เชย...มันล้ำหน้าต่างหาก +
อาจารย์ยักษ์ มหา''ลัยคอกหมู
แหล่งที่มา:
คมชัดลึก 22 มกราคม 2554
ฉบับที่แล้วเล่าเรื่องงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ถึงการนำวิถีบ้าน บ้าน มาแสดงให้เห็นจริง ว่าวิถีดั้งเดิมของเรานี่แหละที่เป็นทางรอด ผ่านวิกฤตได้จริง โดยยกเอาวิถีของภาคเหนือกับการต้านวิกฤตหมอกควัน วิถีอีสานกับการต้านภัยแล้งมาให้เห็นภาพบ้างแล้ว ฉบับนี้อาจารย์ยักษ์จะบอกเล่าถึงอีกสองภาคและภารกิจของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ที่เชื่อมประสานกับต่างประเทศจนนำมาสู่งานมหกรรมคืนชีวิตภาคนานาชาติในวันที่ 19 มีนาคม เพิ่มมาจากปกติที่เราจัดงานกัน 17-18 มีนาคมเท่านั้น
เมื่อเราเอาวิกฤตการณ์ขึ้นตั้ง ก็จะทำให้เราเห็นว่า ที่เรารอดได้นั้น เพราะเราทำจริง ทำแบบที่เหมาะกับเรา คุ้นเคยกับเรา เช่นภาคใต้ ต้องประสบกับวิกฤตน้ำท่วม แต่พวกเขาก็ได้คิดแนวทางผ่านวิกฤต ด้วยการฝึกฝนตัวเองให้คุ้นเคยและเอาตัวรอดได้ งานนี้จึงจะมีการจัด Survival Camp หรือ แคมป์ฝ่าวิกฤตขึ้นที่มาบเอื้อง พร้อมกันนั้นก็ปักธงตั้งมั่นว่า ในปีมหามงคลเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนมมายุครบ 84 พรรษา ชาวธนาคารต้นไม้จะตั้งธนาคารต้นไม้ให้ได้ 984 สาขา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เพราะเชื่อมั่นว่าธนาคารต้นไม้เหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นเครื่องมือเดียว ที่จะพาเราผ่านวิกฤตได้ และคืนกลับความมั่งคั่งให้กับเรา เหมือนที่เราเคยมีมาก่อนหน้านี้
ส่วนภาคกลางนั้น เมื่อย้อนกลับมามองก็เห็นแต่ความเป็นเมืองเป็นหลัก คนเมืองคงไม่มีอะไรวิกฤตเท่า “วิกฤตหนี้สิน” เป็นวิกฤตประจำวันที่ไม่มีฤดูกาล รอแต่เวลาที่วิกฤตตามฤดูจะเข้ามาโถมซ้ำเท่านั้นเอง คนภาคกลางมีชีวิตกับหนี้หมุนเวียนที่ซ้ำซาก จำเจ และกัดกร่อนชีวิตเสียยิ่งกว่าน้ำท่วม หรือภัยแล้ง พวกเราชาวกสิกรรมธรรมชาติ นำโดยผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ก็จะมานำเสนอโมเดลใหม่เอี่ยม ที่ลงทุนเป็นหนี้อีกหน เพื่อสอนตั้งแต่นับหนึ่งไปจนสำเร็จให้กับพวกเราที่ทนทุกข์อยู่กับหนี้ ว่าแม้จะมีหนี้ถึงล้านก็ตาม มีที่แค่ 5 ไร่ ทำตามแบบศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึงรับประกัน 5 ปีใช้หนี้หมด ส่วนคนที่ไม่มีหนี้ก็จะมีโมเดลอื่นๆ ที่เอามานำเสนอ โดยเน้นไปที่การพึ่งตัวเองให้ได้ในรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังขยายผลไปยังภาคปศุสัตว์ การทำโรงงานสีเขียว 4 in 1 ตามแบบสวนธงไชย-ไร่ทักสม ที่ลดต้นทุนได้กว่า 85% ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็จะมี โมเดลอุตสาหกรรมพอเพียง ที่แม้เพิ่งเริ่มก็พอจะมองเห็นภาพให้จำลองแล้วเดินตามได้ นอกนั้นยังมีการทำรายได้แบบยั่งยืนด้วยการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้รากเหง้าตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นธุรกิจแล้ว ยังเป็นการทำเพื่อฟื้นฟูชาติภูมิ สยามประเทศ
ทั้งหมดนี้พอจะมองเห็นภาพรวมของงานได้ว่า งานคืนชีวิตให้แผ่นดินปีนี้ เป็นเรื่องของ “รูปธรรมแห่งความสำเร็จ” ล้วนๆ เพราะเราตั้งใจว่าเราจะ “เอาดีออกอวด” พร้อมชักชวนเครือข่ายเพื่อนฝูงพวกเรา ที่มีเจตนารมณ์ไปในทางเดียวกัน คือ เอาบ้าน เอาเมืองให้รอด ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ สู่การปฏิบัติ น้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดผล ด้วยจิตแห่งความเมตตาและพร้อมที่จะเผื่อแผ่แบ่งปัน
ส่วนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ปีนี้ก็จะได้นำผลที่เป็นรูปธรรมแห่งความสำเร็จ ทั้งด้านของการตั้งกองบุญต้นกล้าพอเพียง กองบุญลุ่มน้ำและทะเลไทย กองบุญศาสตร์พระราชามานำเสนอผลงาน ซึ่งก็จะมีการถอดเส้นทางเดินของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติเพื่อเป็นต้นแบบให้ง่ายต่อการปฏิบัติตาม พร้อมเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งตรงนี้อาจารย์ยักษ์เน้นย้ำว่าสำคัญยิ่ง เพราะหนึ่งในแนวทางฟื้นฟูชาติ 9 ขั้นตอนจากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกนั้น กล่าวถึงการทำชีวาณูสงเคราะห์ ซึ่งในความหมายทางพืชพันธุ์หมายถึงการเพาะเนื้อเยื่อ คือการนำเอาเซลเนื้อเยื่อของต้นไม้ออกมาเพาะใหม่ซึ่งวิธีการนี้เราจะได้ กล้าใหม่ ในปริมาณทีละมากๆ อาจารย์ยักษ์ตีความว่า ในทางสังคม หมายถึงการเปลี่ยนแปลง DNA ของคนผ่านสื่อ ซึ่งสามารถส่งผลสะเทือนได้คราวละมากๆ เช่นกัน อันเป็นวิธีการ เพาะเนื้อเยื่อ ที่เร็ว แรงและได้ปริมาณมากที่สุดในเวลาอันจำกัด
อาจารย์ยักษ์ เลยขอถือโอกาสประกาศเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน ทั้งผู้ที่อยากสนับสนุนงาน อยากเข้าร่วมเอาดีออกอวด เชิญสื่อมวลชนที่ต้องการร่วมขบวนบุญ ทำชีวาณูสงเคราะห์ เชิญผู้คนที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้มางานร่วมกัน หรือหากจะต้องการเอาดีมาร่วมออกอวด ก็โทรมาสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สัมมากร โทร. ๐๒ ๗๒๙ ๘๒๓๙ ซึ่งอาจารย์ยักษ์มองว่า ...แม้เวลาจะดูเหมือนสายไปแล้ว แต่ถ้าร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ก็เชื่อมั่นว่าจะพาคนรอดจากวิกฤตได้จริงเหมือนที่พวกเรา ผ่านวิกฤตมาแล้วด้วยวิถีบ้าน บ้าน +
อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู