# สำนักงานกศน.จังหวัดพังงา
[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
13/05/2567

 

  

ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์
วันวิสาขบูชา

พฤหัสบดี ที่ 12 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2554

คะแนน vote : 256  

วันวิสาขบูชา

      วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน


ความสำคัญ
วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน ๖) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้




๑. เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ
ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า





๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ
ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป




๓. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีปของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลดเสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น
วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่มีต่อปวงมนุษย์และสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้
การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ

พุทธกิจ ๕ ประการ

๑. ตอนเช้า เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ คือเสด็จไปโปรดจริง เพราะทรงพิจารณาเห็นตอนจวนสว่างแล้ว ว่าวันนี้มีใครบ้างที่ควรไปโปรดทรงสนทนา หรือแสดงธรรมให้ละความเห็นผิดบ้าง เป็นต้น
๒. ตอนบ่าย ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนที่มาเฝ้า ณ ที่ประทับ ซึ่งปรากฏว่าไม่วาพระองค์จะประทับอยู่ที่ใด ประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่าตลอดถึง ผู้ปกครอง นครแคว้นจะชวนกันมาเฝ้าเพื่อสดับตับพระธรรมเทศนาทุกวันมิได้ขาด
๓. ตอนเย็น ทรงเเสดงโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลที่อยู่ประจำ ณ สถานที่นั้นบางวันก็มีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบด้วยเป็นจำนวนมาก
๔. ตอนเที่ยงคืน ทรงแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาเทวดา หมายถึง เทพพวกต่างๆ หรือกษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพ ผู้สงสัยในปัญญาและปัญหาธรรม
๕. ตอนเช้ามืด จนสว่าง ทรงพิจารณาสัตว์โลกที่มีอุปนิสัยที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดได้ แล้วเสด็จไปโปรดโดยการไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้วในข้อ ๑
โดยนัยดังกล่าวมานี้พระพุทธองค์ทรงมีเวลาว่าอยู่เพียงเล็กน้อยตอนเช้าหลังเสวยอาหารเช้าแล้ว แต่ก็เป็นเวลาที่ต้องทรงต้อนรับอาคันตุกะ ผู้มาเยือนอยู่เนืองๆ เสวยน้อย บรรทมน้อย แต่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจมาก ตลอดเวลา ๔๕ พรรษานั้นเอง ประชาชนชาวโลกระลึกถึงพระคุณของพระองค์ดังกล่าวมาโดยย่อนี้ จึงถือเอาวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระองค์เป็นวันสำคัญ จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นในทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา

ธรรมเนียมการปฏิบัติในวันวิสาขบูชา

เมื่อวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในรอบปี พุทธศาสนาชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ ฆราวาส (ผู้ครองเรือน) ทั่วไป จะร่วมกันประกอบพิธีเป็นการพิเศษทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดวงประทีปโลก เมื่อวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกัน ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญวิสาขบูชา กลางเดือน ๖ ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา แบ่งออกเป็น ๓ พิธี คือ
๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี)
๒.พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
๓.พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)

การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันวิสาขบูชา ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันมาฆบูชา
๑. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียน ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
๔. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา
๕. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติคือ "วันสำคัญของโลก" ( Vesak Day )

เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา
ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ
ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ ศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถ้อยแถลงของนายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนา พุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน



เข้าชม : 1851


ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ 5 อันดับล่าสุด

      วันวิสาขบูชา 12 / พ.ค. / 2554




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้ [กด F5 ถ้ารหัสไม่ชัดเจน]
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ mocyc@hotmail.com เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
email สำนักงาน pna_nfedc@nfe.go.th 

สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดพังงา
  ๕๙ หมู่ที่ ๓   ตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา  จังหวัดพังงา  ๘๒๐๐๐ โทร ๐๗๖ - ๔๘๑๐๓๕ - ๖ โทรสาร ๐๗๖ - ๔๘๑๐๓๗
 มีปัญหาในการใช้งานติดต่อผู้ดูแลระบบ  
muekzero24@gmail.com   ขอบคุณ อ.นิกร เกษโกมล ผู้พัฒนา cms

email สำนักงานกศน.จ.พังงา  pna_nfedc@nfe.go.th 
 
Powered by MAXSITE 1.10