# สำนักงานกศน.จังหวัดพังงา
[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
13/05/2567

 

  

บทความทั่วไป
วันสงกรานต์

พฤหัสบดี ที่ 7 เดือน เมษายน พ.ศ.2554

คะแนน vote : 276  




คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13,14,15 เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก

         ความหมายของคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้

         สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น"นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์

         มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

         วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว 
 


 

         วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ 3 ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้

         วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. 1181 โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ 1 องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย

         ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ 13 เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ 13 เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ 13 จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

         ปกติวันสงกรานต์จะมี 3 วัน คือ เริ่มวันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน วันแรกคือวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที 0 องศา) วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริง ๆ มีถึง 4วัน คือวันที่ 13-16 เป็นวันเนาเสีย 2 วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว

         จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ 

 

ความเป็นมาของวันสงกรานต์



 ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ  

         สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี 
  



พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

         การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ


ตำนานนางสงกรานต์





 

ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

         ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน

         ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้

         ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ 
 



คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_7.jpg

 

         ตามตำราพรหมชาติ ฉบับหลวง ได้ให้คำทำนายเกี่ยวกับวันสงกรานต์ไว้ดังนี้

1. วันมหาสงกรานต์

  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย
  • ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล
  • ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล ฯ
     

2. วันเนา
 

ภาพ:Songkarn_8.jpg


 

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ
  • ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง
  • ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจนักแล
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย
  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแล ฯ
     

3. วันเถลิงศก  

ภาพ:Songkarn_9.jpg


 

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแล
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง
  • ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล
  • ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแล
  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล ฯ
     

สงกรานต์ 4 ภาค

ภาพ:Songkarn_10.jpg


 

สงกรานต์ภาคเหนือ

          หรือ สงกรานต์ล้านนา หรือ "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่"วันสังขารล่อง"(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล "วันเนา"หรือ"วันเน่า"(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี "วันพญาวัน"หรือ"วันเถลิงศก" (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย"วันปากปี"(16 เม.ย.)ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ"วันปากเดือน"(17 เม.ย.)เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

สงกรานต์ภาคอีสาน

         นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน 

สงกรานต์ภาคใต้

         ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์(13 เม.ย.)เป็น"วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน"วันว่าง"(14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น"วันรับเจ้าเมืองใหม่"(15 เม.ย.)จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์


 สงกรานต์ภาคกลาง

         เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน"มหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น"วันกลาง"หรือ"วันเนา" วันที่ 15 เป็นวัน"วันเถลิงศก" ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำ
บุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การ
กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
 

สงกรานต์ในปัจจุบัน และอนาคต



 

            ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่ส่งผลกับประเทศไทย ก่อให้เกิดภาวะวิกฤตกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ประเพณีสงกรานต์ก็ตกอยู่ในวัฏจักรนี้เช่นเดียวกัน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายประการที่ยังความเป็นห่วงให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนที่รักและเห็นคุณค่าของประเพณีนี้ จึงมีความพยายามที่จะรณรงค์ทุกรูปแบบเพื่อให้ทุกคนที่เป็นคนไทย รวมทั้งชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงความหมาย ความสำคัญ และคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ที่แท้จริง

         หากคนไทยทุกคนเข้าใจถึงคุณค่า และแนวทางปฏิบัติของประเพณีสงกรานต์ และร่วมมือกันปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อสืบทอดความหมายและคุณค่า ความเบี่ยงเบน ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะหมดไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเล่นสาดน้ำที่เกินเหตุ ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายทั้งการใช้น้ำสกปรก การใช้น้ำแข็งขว้างปา การใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงจนก่อให้เกิดอันตราย การใช้แป้งใช้สีทาตามหน้าตาและเนื้อตัว ฯลฯ ตลอดจนกระทั่งการขยายความหมายของการเล่นสาดน้ำให้เป็นจุดขายของประเพณีสงกรานต์จนเกินจริง ทั้ง ๆ ที่การเล่นรดน้ำเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แสดงถึงความเอาใจใส่ ความเอื้ออาทร และความหวังดีซึ่งกันและกันเท่านั้น

         เราคนไทยควรใช้ประเพณีสงกรานต์นี้ เป็นโอกาสในการสร้างความรัก ความกตัญญู ความเอื้ออาทร ความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อมนุษย์ด้วยกัน มากกว่าจะเป็นเพียงการเล่นสาดน้ำอย่างอึกทึกครึกโครมเท่านั้น โดยละเลยคุณค่า สาระ ที่เป็นแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์ที่งดงามมาและทรงคุณค่ามาแต่อดีต


 



เข้าชม : 7076


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      วันปิยมหาราช 17 / ต.ค. / 2566
      ร่วมตั้งชื่อลูกฮิปโป 13 / พ.ย. / 2562
      มาดูหนูดี สอนวิธีการพัฒนาสมองกันค่ะ 5 / ส.ค. / 2554
      วันแม่แห่งชาติ 29 / ก.ค. / 2554
      วันรพี 29 / ก.ค. / 2554




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้ [กด F5 ถ้ารหัสไม่ชัดเจน]
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ mocyc@hotmail.com เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
email สำนักงาน pna_nfedc@nfe.go.th 

สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดพังงา
  ๕๙ หมู่ที่ ๓   ตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา  จังหวัดพังงา  ๘๒๐๐๐ โทร ๐๗๖ - ๔๘๑๐๓๕ - ๖ โทรสาร ๐๗๖ - ๔๘๑๐๓๗
 มีปัญหาในการใช้งานติดต่อผู้ดูแลระบบ  
muekzero24@gmail.com   ขอบคุณ อ.นิกร เกษโกมล ผู้พัฒนา cms

email สำนักงานกศน.จ.พังงา  pna_nfedc@nfe.go.th 
 
Powered by MAXSITE 1.10