[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

  
โรควิตกกังวล
โดย : ดร. ศิรพงศ์ รักต์เธียรธรรม   เมื่อวันที่ : อาทิตย์ ที่ 13 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2560   


โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ โรคทางจิตใจที่มีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลจะพบว่ามีความวิตกกังวลและอาการอื่น ๆ ต่อเนื่องและอาการไม่หายไป หรืออาจมีอาการที่แย่ลงได้ในที่สุด

โรควิตกกังวลทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียนหนังสือ และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถจัดการกับอาการและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้
โรควิตกกังวลมีหลายประเภท เช่น โรคแพนิค (Panic Disorder) โรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) หรือโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) เป็นต้น
อาการของโรควิตกกังวล
อาการของโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรควิตกกังวล โดยอาการทางกายและใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ได้แก่
มีอาการตื่นตระหนก กลัว และไม่สบายใจ
ไม่สามารถอยู่ในความสงบได้ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
มือและเท้าเย็น หรือเหงื่อแตก
หายใจตื้น
ใจสั่น
เจ็บหน้าอก
ปากแห้ง
มีอาการเหน็บชาที่มือและเท้า
มีอาการคลื่นไส้
เวียนศีรษะ
ปวดศีรษะ
กล้ามเนื้อตึงเกร็ง
มีความอ่อนล้า เหนื่อยง่าย
มีอาการสั่น
นอกจากนั้น ในแต่ละประเภทยังมีอาการเฉพาะ ดังต่อไปนี้
อาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) เช่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก ใจสั่น รู้สึกสำลัก มีความรู้สึกเหมือนตนเองเป็นโรคหัวใจหรือเหมือนจะเป็นบ้า
อาการของโรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) เช่น มีความเครียดหรือมีความกังวลมากเกินไปจากความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะมีสาเหตุเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีสาเหตุที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการกังวลได้
อาการของโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) เช่น มีความกังวลที่รุนแรงมากหรือมีความระมัดระวังตัวเกินเหตุในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอตามปกติในชีวิตประจำวัน โดยความกังวลที่เกิดขึ้นมักเป็นความกลัวการตัดสินจากผู้อื่น หรือกลัวว่าจะเกิดความอับอายและถูกล้อเลียน
อาการของโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) ผู้ป่วยจะมีความกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งของหรือสถานการณ์เฉพาะ เช่น กลัวความสูง กลัวการเข้าสังคม และกลัวสัตว์บางชนิด ซึ่งจะกลัวในระดับที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน
สาเหตุของโรควิตกกังวล
สาเหตุของโรควิตกกังวล ไม่ได้มาจากความบกพร่องทางบุคคลิกภาพ หรือการเลี้ยงดูที่ไม่ดี แต่มีสาเหตุคล้ายกับโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ จากการวิจัยพบว่าโรคทางจิตใจเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ การทำงานของสมองบางส่วนที่เกิดความเปลี่ยนแปลง และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม
โครงสร้างการทำงานของสมอง โรควิตกกังวลอาจมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ หรือหากมีความเครียดมาก ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้เซลล์ประสาทและสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลบางชนิด มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึก
กรรมพันธุ์ โรควิตกกังวลเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกทำนองเดียวกันกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
ปัจจัยที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับบาดเจ็บ หรือประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวลที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะมีปฏิกิริยาที่ไวต่อการถูกกระตุ้นจากปัจจัยดังกล่าว
ปัจจัยเฉพาะอื่น ๆ เช่น
ความขี้อายหรือไม่กล้าแสดงอารมณ์ในเด็ก
มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี
เป็นหม้ายหรือเคยหย่าร้าง
ต้องพบกับเหตุการณ์ในชีวิตที่มีความตึงเครียด ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
มีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคทางจิตใจ
มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลายเพิ่มในช่วงบ่ายซึ่งมาจากความเครียด โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)
โรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรควิตกกังวล
แพทย์จะเริ่มจากการถามประวัติทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น อาการที่เกิดขึ้นและโรคประจำตัว หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายและอาจตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจปัสสาวะ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน โรคหืด หรือหัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะได้รับยาและสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรควิตกกังวล
แต่หากไม่พบโรคทางกายใด ๆ แพทย์จะส่งตัวไปให้จิตแพทย์วินิจฉัยโดยการสัมภาษณ์ หรือใช้เครื่องมือช่วยในการประเมินโรคทางจิตใจ โดยการประเมินสุขภาพทางจิตอย่างละเอียดจะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรควิตกกังวลเป็นอย่างมากในการแยกโรคทางจิตใจ เพราะโรควิตกกังวลมักมีอาการคล้ายกับภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder: OCD)
การรักษาโรควิตกกังวล
การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค ซึ่งวิธีที่ใช้ในการรักษาโดยทั่วไป มีดังนี้
จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการรักษาด้วยการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาของโรควิตกกังวลได้ในที่สุด
การรักษาด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy) เป็นวิธีการรักษาทางจิตที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และความรู้สึก เช่น ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคเรียนรู้ว่าอาการแพนิคนั้นไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ หรือช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมเรียนรู้ที่จะเอาชนะความเชื่อที่คิดว่าคนอื่นคอยจ้องมองหรือตัดสินตน เป็นต้น
การฝึกจัดการกับความเครียด วิธีฝึกการจัดการกับความเครียดและการทำสมาธิ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลมีอารมณ์ที่สงบลงและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดวิธีอื่นได้ด้วย
การรักษาด้วยยา ยาที่นำมาใช้ในการรักษาและลดอาการของโรควิตกกังวล เช่น
ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ
ยาระงับอาการวิตกกังวล เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เช่น ยาอัลปราโซแลม และยาโคลนาซีแพม
ยาช่วยควบคุมอาการทางร่างกายเมื่อมีความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น คือ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น ยาโพรพราโนลอล
ยาอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคลมชัก และยาระงับอาการทางจิต
การใช้ยาเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและดุลยพินิจของแพทย์
นอกจากนั้น ยังพบว่าการออกกำลังกายด้วยวิธีแอโรบิกมีผลทำให้อาการสงบลงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาค้นคว้าที่มากพอเพื่อนำมาเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา รวมไปถึงควรพิจารณาที่จะหลีกเลี่ยงคาแฟอีน ยาเสพติด และยาแก้หวัดที่ซื้อตามร้านขายยาทั่วไป เพราะมีผลทำให้อาการของโรควิตกกังวลแย่ลงและที่สำคัญ คือการได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากคนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลฟื้นฟูสู่สภาพปกติได้ดี
ภาวะแทรกซ้อนโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลเป็นภาวะที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียนหนังสือ หรือการรักษาความสัมพันธ์ให้ดี นอกจากนั้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงที่รุนแรงต่าง ๆ จนถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น
ภาวะซีมเศร้า โรควิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งต่างมีอาการที่คล้ายกัน เช่น ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ และรู้สึกกังวล
การฆ่าตัวตาย โรคทางจิตใจหรือโรควิตกกังวลเป็นหนึ่งในสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวการเข้าสังคม หรือผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลพร้อมกับมีภาวะซึมเศร้า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ หากผู้ป่วยเริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความคิดในการฆ่าตัวตาย ควรรีบขอรับความช่วยเหลือจากแพทย์โดยเร็ว
การใช้สารเสพติด ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตหรือโรควิตกกังวล มีแนวโน้มที่จะติดสิ่งเสพติดที่ให้โทษ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ติดสิ่งเสพติดเหล่านี้ โดยผู้ป่วยมักใช้สิ่งเสพติดเพื่อบรรเทาอาการ

โรควิตกกังวล
HonestDocs
https://www.honestdocs.co/anxiety
https://www.honestdocs.co



เข้าชม : 346





Re หัวข้อ :
รูปประกอบ : Limit 100 kB
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
รายละเอียด :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ชื่อของท่าน :


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกะปง
 หมู่ที่ 2 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา 82170 โทร 076-499433 โทรสาร 076-499433
E-mail : nfekapong@hotmail.com
FB : www.facebook.com/nfekpong

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05