[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

  
มะเร็งเต้านม
โดย : ดร.สุริยัน   เมื่อวันที่ : ศุกร์ ที่ 23 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560   



โรคมะเร็งเต้านม

สุขภาพ


มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคมะเร็งที่มีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโตรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 1-2 ของโรคมะเร็งที่พบได้ในผู้หญิง จะเริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาวเป็นต้นไป และจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี




มะเร็งชนิดนี้เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ เพราะจะพบได้สูงขึ้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่พบได้ในอายุต่ำกว่า 40 ปี[2]


มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับ 2 ของโรคมะเร็งที่พบได้ในผู้หญิง โดยคิดเป็นประมาณ 16% ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด[2]


อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละเชื้อชาติและภูมิประเทศ โดยมีรายงานว่าในภูมิภาคเอเชียจะพบได้ประมาณ 18-26 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน, ในภูมิภาคแอฟริกาพบได้ประมาณ 22-28 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน, ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้พบได้ประมาณ 42 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน, ในทวีปยุโรปพบได้ประมาณ 49-78 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และในอเมริกาเหนือพบได้ประมาณ 90 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ส่วนในประเทศจากรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2544 – 2546 พบว่าผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านมประมาณ 20.9 คน และในผู้ชายประมาณ 0.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน[2] (ส่วนรายงานล่าสุดในปี พ.ศ. 2553-2555 พบอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในหญิงไทย โดยคิดเป็น 28.6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน มีอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง)


มะเร็งชนิดนี้จะพบได้ในผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิงเป็น 100 เท่า ซึ่งข้อมูลในการรักษามะเร็งเต้านมของผู้ชายนั้นยังมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อย ในทางการแพทย์จึงอนุโลมให้ใช้วิธีการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้หญิง[2]



สาเหตุของมะเร็งเต้านม


ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม (โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในผู้ชาย) โดยพบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงมีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่




อายุที่มากขึ้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อการเป็นมะเร็งเต้านม (สาเหตุรองลงมาคือ ข้อ 2-8 ส่วนข้ออื่น ๆ ถือเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) โดยจะพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 50-60%[3]


เคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม และพบว่าเป็นซีสต์เต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติ (Atypia)


พันธุกรรม มีประวัติว่าคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ (มารดาหรือพี่น้องท้องเดียวกัน) จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้สูงกว่า (ถ้ามีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ยิ่งมากคนก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น)


เชื้อชาติ โดยพบโรคนี้ในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าเชื้อชาติเอเชีย


มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่อีกข้างหนึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า


มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากมะเร็งรังไข่มีความเกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้


มีโรคก้อนเนื้อบางชนิดของเต้านม


การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม


การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในหญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี


การมีภาวะหมดประจำเดือนช้า หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี


การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนวัยหมดประจำเดือน)


การมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปี[1]


การไม่มีลูกหรือมีลูกยาก[3]


การใช้ยากลุ่มฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี[1] (ส่วนอีกข้อมูลว่านานเกิน 10 ปี[3])


มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วนที่เกิดภายหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว[2] เพราะถึงแม้ว่ารังไข่จะหยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว แต่ก็พบว่ายังมีปริมาณฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำที่ถูกสร้างจากเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย ดังนั้นถ้าหากมีภาวะอ้วนก็จะทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ส่วนภาวะอ้วนในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนนั้นจะไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่กลับกันความอ้วนอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนได้อีกด้วย[4]


ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงอย่างต่อเนื่อง


การสูบบุหรี่


การดื่มแอลกอฮอล์จัด


การได้รับรังสีในปริมาณสูงตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว



อาการของมะเร็งเต้านม


ในระยะแรกมักมีอาการไม่ชัดเจน ต่อมาผู้ป่วยจะคลำได้ก้อนที่เต้านม (มักเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว ส่วนโอกาสที่จะเกิดทั้งสองข้างมีเพียง 5%) ก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะมีลักษณะแข็งและขรุขระ แต่อาจจะเป็นก้อนเรียบ ๆ ก็ได้ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด แต่จะมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่มีอาการปวดเต้านม



ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้แก่ หัวนมบุ๋ม (จากเดิมที่ปกติ) เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงของเต้านมผิดปกติไปจากเดิม ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม ผิวหนังที่เต้านมมีผื่น แดง ร้อน และขรุขระคล้ายผิวส้ม อาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม ในบางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และนาน ๆ ครั้งอาจพบมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านม






ในบรรดาก้อนที่เต้านมจะมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ ซีสต์เต้านม, เนื้องอกเต้านม และมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่เป็นซีสต์เต้านมมักจะมีอาการเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด จึงทำให้ “ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นอะไร และปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งนั้นใหญ่โตขึ้นมากแล้วมารู้สึกเจ็บภายหลัง”






ระยะของโรคมะเร็งเต้านม


โรคมะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและผู้ชายจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันเช่นเดียวกับโรคมะเร็งทั่วไป[2],[4] ดังนี้




ระยะที่ 0 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กและเซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะในชั้นผิวของเนื้อเยื่อเต้านม ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี สูงถึง 95-100% (ในระยะนี้ยังไม่จัดว่าเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกรานใด ๆ)


ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งที่เต้านมยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร ยังไม่ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (ระยะที่ 1A – Stage IA) หรือเป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (เป็นเซลล์มะเร็งกลุ่มเล็ก ๆ) และยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมหรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านม แต่ยังขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร (ระยะที่ 1B – Stage IB) ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี สูงถึง 90-100%


ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 1-3 ต่อม แต่ยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านม หรือเป็นระยะที่ก้อนมะเร็งที่เต้านมยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร แต่มะเร็งมีการลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 1-3 ต่อม หรือเป็นระยะที่ก้อนมะเร็งที่เต้านมมีขนาดโตกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร ที่ยังไม่ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณ 85-90%


ระยะที่ 3 ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีอยู่ที่ประมาณ 65-70% โดยจะแบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้


ระยะที่ 3A (Stage IIIA) : เป็นระยะที่ยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมหรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านมขนาดใดก็ได้ และมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 4-9 ต่อม หรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านมขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (เป็นเซลล์มะเร็งกลุ่มเล็ก ๆ) หรือลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 1-3 ต่อม


ระยะที่ 3B (Stage IIIB) : เป็นระยะที่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมมีขนาดใดก็ได้ และโรคมะเร็งได้ลุกลามไปยังผนังหน้าอกและ/หรือผิวหนังของเต้านมจนก่อให้เกิดอาการบวม และอาจลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือต่อมน้ำเหลืองใกล้กับกระดูกหน้าอกจนถึง 9 ต่อม


ระยะที่ 3C (Stage IIIC) : เป็นระยะที่ยังไม่พบก้อนมะเร็งที่เต้านมหรือพบก้อนมะเร็งที่เต้านมขนาดใดก็ได้ และมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มากกว่า 10 ต่อม หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับกระดูกหน้าอก



ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยคือ ปอด สมอง ตับ กระดูก และไขกระดูก ซึ่งโรคในระยะนี้มักจะไม่หายขาด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1-3 ปี โดยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีโรคแพร่กระจาย ส่วนอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 0-20%



การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง


เป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยวิธีการง่าย ๆ ด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก่อนการตรวจคุณจะต้องทราบก่อนว่าขนาดและลักษณะของเต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะบางคนจะมีขนาดโตมากขึ้นและแข็งมากขึ้นก่อนมีประจำเดือน หรือบางคนเต้านมจะแข็งตลอดเวลาที่มีประจำเดือน และพอหลังเข้าสู่ช่วงวัยทองขนาดของเต้านมก็จะเล็กลง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่อาการที่ผิดปกติแต่อย่างใด ดังนั้น ช่วงเวลาในการตรวจเต้านมที่ดีที่สุดจึงควรเป็นช่วง 5-7 วันหลังการมีประจำเดือนวันสุดท้าย เพราะในช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่มมากที่สุด ทำให้คลำเจอก้อนที่มีขนาดเล็กได้โดยง่าย แต่สำหรับผู้หญิงวัยทองหรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกไปนั้นสามารถตรวจได้ตามสะดวก แต่แนะนำว่าให้กำหนดวันที่แน่นอนสำหรับการตรวจเป็นประจำทุกเดือนเพื่อง่ายต่อการจดจำ (เช่น ตรวจทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นต้น) ส่วนวิธีการตรวจมีดังนี้[6]




การดูเต้านมหน้ากระจก ให้ยืนตัวตรงมือแนบลำตัว แล้วสังเกตลักษณะของเต้านมทั้ง 2 ข้างอย่างละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทุกส่วนของเต้านม เช่น รอยนูนขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมไม่เท่ากัน มีแผลหรือมีเส้นเลือดใต้ผิวมากขึ้นผิดปกติ



โดยการสังเกตนั้นให้ทำการเปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่าแตกต่างไปจากเดิมหรือผิดไปจากอีกข้างหรือไม่ (เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพียงข้างเดียว) แล้วทำการหันตัวเล็กน้อยเพื่อให้มองได้เห็นด้านข้างของเต้านมได้ชัดเจนขึ้น แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากนั้นให้ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสังเกตดูความผิดปกติของรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เพราะในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งของเนื้อเยื่อและทำให้เกิดรอยบุ๋มได้ ต่อมาให้เอามือเท้าสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อสังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนัง เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตที่เต้านมแล้ว ให้ทำในขั้นตอนถัดไป


การคลำเต้านมในท่านั่ง ให้ตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านมโดยรอบ โดยการใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง (บริเวณที่ค่อนไปทางปลายนิ้ว เพราะเป็นตำแหน่งที่ไวต่อการสัมผัส) การคลำเต้านมให้คลำในลักษณะคลึงเป็นก้นหอยเล็ก ๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังหน้าอกเป็นตำแหน่งที่สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งเต้านมได้ ต่อมาให้สังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลวหรือเลือดออกมาจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ (การบีบบริเวณหัวนมควรทำอย่างเบามือ เพราะถ้ามีความผิดปกติจริงจะพบว่ามีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดได้โดยไม่ต้องบีบเค้น) จากนั้นให้ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านมส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ (ให้ห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามอกหย่อนลง จะได้คลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน)


การคลำเต้านมในท่านอน ต่อจากท่านั่งให้ใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักหลัง เพื่อให้หน้าอกด้านหน้าแอ่นขึ้น ยกแขนหนุนศีรษะ แล้วใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง (เช่น ถ้าจะคลำเต้านมซ้ายก็ให้ใช้มือขวาคลำ) ส่วนวิธีการคลำนั้นให้ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลำในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็ก ๆ บริเวณเต้านมให้ทั่ว (ให้ไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม จะคลำตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้) ในระดับความแรง 3 ระดับ คือ ระดับตื้นลงไปจากผิวหนังเล็กน้อย ระดับลึกลงไปอีก และระดับที่ลึกถึงผนังหน้าอก แล้วสังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ (มะเร็งของเต้านมมักจะพบได้ที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ดังนั้น จึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด) สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้วิธีนอนตะแคงโดยเอาด้านข้างของลำตัวด้านนั้นให้สูงขึ้น เพื่อที่จะคลำด้านข้างได้ชัดเจน เนื่องจากเนื้อของเต้านมจะไปกองอยู่ที่บริเวณด้านข้างจนทำให้คลำได้ยาก หรือจะใช้วิธีคลำลงล่างและขึ้นบนไปมาจนทั่วบริเวณ แล้วนอนหงายเพื่อคลำด้านในให้ทั่วเช่นเดียวกัน



การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม


แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายได้โดยดูจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประวัติการกินยาต่าง ๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำเต้านม การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram – แมมโมแกรม) และอาจร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) แต่ที่จะให้ผลแน่นอนที่สุดคือ การเจาะ ดูดเซลล์ หรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางเซลล์วิทยาหรือทางพยาธิวิทยา



ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแพทย์อาจให้ตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ (เช่น ตับ ปอด กระดูก ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ตับ เอกซเรย์ปอด และตรวจสแกนกระดูก) และเพื่อดูว่ามะเร็งมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนหรือไม่ด้วย ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม



สำหรับการตรวจเลือดและยีน (Gene) เพื่อหามะเร็งเต้านมนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะการตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านมจะมีความแม่นยำต่ำ ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจะพบผลการตรวจเลือดเกี่ยวกับมะเร็ง เช่น CA153, CEA ผิดปกติน้อยกว่า 20% ในขณะเดียวกันผู้ที่มีผลเลือดปกติก็อาจจะเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้วก็ได้ ส่วนการตรวจยีน เช่น gene BRCA1, BRCA2 ซึ่งจะมีความผิดปกติในมะเร็งเต้านมที่เป็นกันทั้งครอบครัว หากตรวจพบก็ไม่ได้หมายความว่ากำลังเป็นมะเร็งอยู่ เพียงแต่จะทำให้รู้ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไป และยีนดังกล่าวก็พบได้เพียง 5-10% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่เป็นมะเร็งเต้านมเท่านั้น เมื่อตรวจแล้วพบว่าปกติก็ยังมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย



วิธีรักษามะเร็งเต้านม



แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม โดยอาจตัดเต้านมออกเพียงบางส่วนหรือตัดออกทั้งหมด (ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ ขนาดของเต้านมผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์) พร้อมกับเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษาเสริมด้วยรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมนบำบัด (โดยให้กินยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านม) และยารักษาตรงเป้าหรือยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) โดยทั้งยาฮอร์โมนและยารักษาตรงเป้านั้นจะใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดตอบสนองต่อยาเท่านั้น ซึ่งแพทย์สามารถทราบได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งไปตรวจทางพยาธิวิทยา


การผ่าตัดเต้านมมีทั้งแบบเก็บเต้านมไว้ (มักต้องรักษาร่วมกับรังสีบำบัด) และแบบผ่าตัดเต้านม


วิธีการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชายจะทำเช่นเดียวกับการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิง


แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านมมักจะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ระยะของโรคและการกระจายของมะเร็ง ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ ผลชิ้นเนื้อภายหลังการผ่าตัด อายุและสุขภาพของผู้ป่วย ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน และดุลยพินิจของแพทย์


ผลการรักษาส่วนใหญ่จะได้ผลดี ถ้าเป็นระยะแรกมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานตามปกติหรือหายขาด แต่ถ้าเป็นในระยะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ก็มักจะได้ผลไม่สู้ดีนัก ดังนั้นโอกาสในการรักษาให้หายขาดจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรคเป็นหลัก และรวมไปถึงการตอบสนองต่อการใช้ยา อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย



ส่วนวิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด รวมไปถึงมะเร็งเต้านมนั้น โปรดติดตามได้ในบทความต่อไปครับ



ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งเต้านม


ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคนี้จะขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการรักษา ได้แก่




ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น การเสียเลือด, แผลผ่าตัดติดเชื้อ, การสูญเสียเนื้อเยื่อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ


ผลข้างเคียงจากการใช้รังสีรักษา คือ ผิวหนังในบริเวณที่ทำการฉายรังสีเกิดเป็นแผลถลอก เป็นแผลเปียกคล้ายแผลถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลมีขนาดใหญ่ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ


ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด คือ ผมร่วง, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้อาเจียน, มือเท้าชา, อ่อนเพลีย, เกิดภาวะซีด, เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อได้ง่าย, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกได้ง่าย, การทำงานของไตลดลง เป็นต้น


ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด คือ ตกขาวโดยไม่มีการติดเชื้อ, เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (พบได้น้อย), ปวดข้อ, เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก (พบได้น้อยมากประมาณ 0.2-1.6 คน ต่อผู้ใช้ยานี้ 1,000 คน)


ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้



ผลข้างเคียงที่กล่าวมานี้จะสูงและรุนแรงมากขึ้น ในกรณีที่




ใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันในการรักษา


ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง


ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ


ผู้ป่วยสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

https://www.honestdocs.co/what-is-breast-cancer

https://www.honestdocs.co/

เข้าชม : 413





Re หัวข้อ :
รูปประกอบ : Limit 100 kB
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
รายละเอียด :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ชื่อของท่าน :


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกะปง
 หมู่ที่ 2 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา 82170 โทร 076-499433 โทรสาร 076-499433
E-mail : nfekapong@hotmail.com
FB : www.facebook.com/nfekpong

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05