[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

  
โรคเก๊า
โดย : ดร. ศิรพงศ์ รักต์เธียรธรรม   เมื่อวันที่ : อาทิตย์ ที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560   


โรคเก๊า

https://www.honestdocs.co/gout-cause-and-prevention
https://www.honestdocs.co

เกาต์ หรือ เก๊าท์ (Gout) เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง (พบได้ประมาณ 2-4 คน ใน 1,000 คน[1]) จัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ในวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยอายุ 40-60 ปี จะพบโรคนี้ได้ประมาณ 2% และอายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบได้ประมาณ 4% สังเกตได้ว่ายิ่งอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นตามไปด้วย[2] มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9-10 เท่า[1] ส่วนในผู้หญิงจะพบได้น้อย หรือถ้าพบก็มักจะเป็นผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว (มักเริ่มเป็นเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป) โดยทั่วไปมักเกิดกับข้อเพียงข้อเดียว ในบางครั้งอาจเกิดกับหลายข้อได้พร้อม ๆ กันก็ได้ แต่ข้อที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ นิ้วหัวแม่เท้า
สาเหตุของโรคเกาต์
โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดการตกผลึกของยูเรตตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ข้อ (ทำให้เกิดข้ออักเสบ) ไต (ทำให้เกิดนิ่วในไตและไตวาย) ส่วนสาเหตุที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงก็เนื่องมาจาก ร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าปริมาณที่ขับออก (นอกจากกรดยูริกในเลือดสูงจะเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดยีนในการสลายกรดยูริกแล้ว ยังพบว่าอาจเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่มีสารพิวรีนสูง และจากขบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกาย โดยการสลายโปรตีนและได้สารพิวรีนออกมา ซึ่งกรดยูริกในร่างกายส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการนี้) หรือเกิดจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริกเป็นปกติแต่ปริมาณที่ขับออกจากร่างกายมีน้อยกว่า (กรดยูริกที่สร้างขึ้นจะมีการขับออกจากร่างกายได้ 2 ทางหลัก คือ ขับออกทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะขับออกได้ประมาณ 1 ใน 3 และส่วนที่เหลือจะขับออกทางไตได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างได้ในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะมีความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต) ส่วนสาเหตุอื่น ๆ หรือสาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบเป็นซ้ำใหม่ คือ
ความผิดปกติทางพันธุกรรมจากการขาดเอนไซม์บางตัวหรือเอนไซม์บางตัวทำงานมากเกินไป เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักพบว่ามีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
เกิดจากโรคบางชนิดที่ส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูง เช่น โรคมะเร็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเลือด โรคทาลัสซีเมีย โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงการใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี เป็นต้น
เกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่น เป็นโรคไต ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ
เกิดจากโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น ไฮโปไทรอยด์ (ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน, ภาวะขาดไทรอยด์) เพราะส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูง
เกิดจากเพศ เนื่องจากพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
การดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการขับกรดยูริกออกทางไตหรือทางปัสสาวะ หลังการดื่มจึงทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง กรดยูริกจึงคั่งอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ
การรับประทานอาหารที่ให้กรดยูริก (สารพิวรีน) สูงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ หรือการรับประทานอาหารที่หมักด้วยยีสต์ (Yeast คือ เชื้อราบางชนิดที่ใช้ในการหมักอาหารและเครื่องดื่ม) เพราะเป็นสาเหตุทำให้มีกรดยูริกในเลือดสูง
ความอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน โดยอาจสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน (Insulin resistance)
เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การกระทบกระแทกที่ข้อ
อากาศเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้า หรือช่วงก่อนฝนตก
การติดเชื้อของร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide – HCTZ), ไซโคลสปอริน (Cyclosporin), เลโวโดปา (Levodopa) เป็นต้น
หมายเหตุ : กรดยูริก หรือ กรดยูริค (Uric acid) เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารพิวรีน (Purine) ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากในสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน และเป็นผลมาจากการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าหากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้ร่างกายมีกรดยูริกคั่งอยู่มากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไต และอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ (โรคเกาต์ หมายถึง ภาวะที่มีการเกาะของยูริกที่ข้อจนทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดบวม แดง ร้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์อาจมีกรดยูริกในเลือดสูงหรือปกติก็ได้ และผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นต้องโรคนี้เสมอไป)
อาการของโรคเกาต์
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้ออย่างรุนแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นทันทีแบบฉับพลัน (มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน) ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ซึ่งข้อที่พบว่าปวดกันมาก คือ นิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบได้บ้างในผู้ป่วยบางราย) โดยข้อที่ปวดจะมีอาการบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง บวม แดง ร้อน ปวดมาก และเจ็บมากเมื่อสัมผัสถูก และจะพบลักษณะจำเพาะ คือ เมื่ออาการเริ่มจะทุเลาลง ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน
โรคเกาต์อาการโรคเก๊าโรคเก๊าท์สาเหตุโรคเก๊าท์
ในการปวดข้อครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อย ๆ หายไปได้เอง
ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการปวดในตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลังกินเลี้ยง หรือหลังกินอาหารมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด และในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการขณะที่มีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมโรคให้ดี ในระยะแรก ๆ อาการอาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยจะเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งเป็นทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กลายเป็น 7-14 วัน จนกระทั่งปวดนานขึ้นเป็นหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ
ในระหลัง ๆ เมื่อข้ออักเสบหลายข้อขึ้น ผู้ป่วยมักจะสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่าปุ่มโรคเกาต์หรือตุ่มโทฟัส (Tophus หรือ Tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของกรดยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกเป็นสารขาว ๆ คล้ายกับชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า และในที่สุดข้อต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ พิการจนใช้งานไม่ได้
ยารักษาโรคเก๊า
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกาต์
กลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรังเมื่อไม่ไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง หรือเกิดปุ่มผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนส่งผลเสียต่อบุคลิกและภาพลักษณ์
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณ 25%) ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ผู้ป่วยโรคเกาต์มักจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าคนปกติ (สันนิษฐานว่าอาจมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ร่วมกับโรคเกาต์) และถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี ปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรัง ในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และไตวายจนเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคเกาต์
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยดูจากประวัติอาการต่าง ๆ ประวัติการรับประทานอาหารหรือยาบางชนิด ประวัติการเป็นโรคเกาต์ของคนในครอบครัว การเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ การตรวจร่างกาย ซึ่งข้อที่ปวดของผู้ป่วยจะมีลักษณะบวมแดงร้อน ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย ในบางรายอาจพบตุ่มโทฟัส และการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของกรดยูริก อาจมีตรวจภาพข้อที่เกิดโรคด้วยการเอกซเรย์ด้วยในบางราย แต่ที่แน่นอน คือ แพทย์จะเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งถ้าพบผลึกของยูเรตแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์
อาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์ หากตรวจพบระดับยูริกในเลือดปกติ แพทย์จะเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย ถ้าพบผลึกของยูเรตแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ แต่ถ้าสิ่งที่ตรวจพบเป็นผลึกของแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (Calcium pyrophosphate) แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคเกาต์เทียม” (Pseudogout) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ปวดข้อ ข้ออักเสบเฉียบพลันกำเริบเป็นครั้งคราวคล้ายโรคเกาต์ แต่โรคนี้ส่วนใหญ่แล้วจะทุเลาลงได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ในเรื่องนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความต่อไป)


เข้าชม : 435





Re หัวข้อ :
รูปประกอบ : Limit 100 kB
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
รายละเอียด :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ชื่อของท่าน :


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกะปง
 หมู่ที่ 2 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา 82170 โทร 076-499433 โทรสาร 076-499433
E-mail : nfekapong@hotmail.com
FB : www.facebook.com/nfekpong

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05