.

เรียนรู้แบบมอแกน กลางหมู่เกาะ
เลาะอันดามัน

 

“ ประเทศไทย...รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ผไทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย...รัก สามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้...ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ไชโย ”

           เสียงร้องเพลงชาติไทย ที่แม้จะฟังดูแปลกแปร่ง แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็งห้าวหาญในน้ำเสียง และสำเนียง ของเด็กๆชาวมอแกน ลูกหลานชนเผ่าเก่าแก่ซึ่งมีชิวิตอยู่กับทะเล ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระเมตตาต่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ขาดโอกาสทางการศึกษา เข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ตามด้วยเสียงสวดมนต์บทบูชาพระรัตนตรัย ในท่วงทำนองรวดเร็วแบบชาวใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายของบทสวดเสียหาย หรือบกพร่องลงไปแต่อย่างใด

            ความด้อยโอกาสทางการศึกษาของเด็กๆชาวมอแกน มีเหตุเนื่องมาจากความอยู่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่อันเป็นแหล่งศูนย์รวมของความเจริญในด้านต่างๆ ประกอบกับ การทำมาหากินและวิถีชีวิตที่แตกต่าง ศูนย์การเรียนชุมชนโดยพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแสงสว่างแห่งความหวังของเด็กๆชาวมอแกน ซึ่งได้ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ในชื่อ “ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ” โดยนำเอารูปแบบของโครงการการจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบท ในพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพังงา ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอคุระบุรีและอำเภอคุระบุรีช่วยกันดำเนินงานตามโครงการ

                                                                                 

            สำหรับภารกิจที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพังงา และศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอคุระบุรีได้รับมอบหมายในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กๆ ชาวมอแกน ตามพระราชดำรัส ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กและเยาวชนให้สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ การดูแลสุขภาพอนามัยแก่เด็กและเยาวชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข

               วิถีชิวิตบางอย่างของชาวมอแกน เป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ อาทิ เรื่องของโภชนาการ และเรื่องของการขับถ่าย การจะสอนผู้ใหญ่ซึ่งผ่านประสบการณ์มามากมาย ฝ่าลมมรสุมมาหลายสิบร้อนฝนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่การสอนทางอ้อมผ่านลูกหลานที่เป็นดั่งดวงใจ กลับเป็นหนทางที่ค้นพบที่ได้ผลอย่างดียิ่ง และแล้ว ณ วันนี้ ครูอาสาฯ ของ กศน.ก็เห็นทางสว่างในการทำงานที่จะทำให้สุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนและวิธีการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวมอแกนสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใย

                  จากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน เมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนทรัพยากรไปอย่างมหาศาลทำให้คนทั้งโลกได้รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้สัญชาติญาณและการเรียนรู้จากธรรมชาติพาชนเผ่าของตนเองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติในครั้งนี้ไปได้อย่างน่าทึ่ง และไม่น่าเชื่อ กลุ่มชาติพันธ์กลุ่มนี้คือ “ ชาวมอแกน ” ที่ชีวิตทั้งชีวิต เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในทะเล
แต่ทว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวมอแกนไม่สามารถรอดพ้นจากเกลียวคลื่นอันเกรี้ยวกราดของทะเลในครั้งนั้นได้ ทำให้ “ ชาวมอแกน ” ต้องไร้ที่อยู่อาศัยอีกครั้ง หลังจากเดินทางร่อนเร่มาทั้งชีวิตหลังจากเกิดธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิทางอำเภอและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้กับชาวมอแกน ซึ่งคล้ายคลึงกับสภาพเดิมแต่จะย้ายให้ห่างจากชายทะเลมากขึ้นบ้านเรือนชาวมอแกนจะปลูกสร้างอย่างง่าย ๆ อาศัยอยู่แบบครัวเรือนเดี่ยวชาวมอแกนมีความสัมพันธ์กันในระบบเครือญาติ หมู่บ้านชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ มีประชากรอาศัยอยู่ จำนวน 56 ครัวเรือน ประกอบด้วยสมาชิกชาย-หญิง รวม 224 คน เป็นผู้ใหญ่ 122 คน และ 102 คน

                  ชนเผ่ามอแกน เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเกาะในบริเวณภาคใต้ของไทย มีรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งค่านิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นของตนเอง ใช้ชีวิตเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่น ทำมาหากินอยู่ในบริเวณเขตทะเลอันดามัน ชีวิตส่วนใหญ่ของชาวมอแกนอาศัยอยู่บนเรือที่พวกเขาเรียกว่า “ กำบาง ” หากินกับทะเล งมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่าง ๆ อาหารหลัก คือเผือกมัน มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฤดูกาลจากอิทธิพลของลมมรสุมในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ (เดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน) ซึ่งมีคลื่นลมจัด ชาวมอแกนจะอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนตามเกาะหรือบริเวณชายหาดที่มีอ่าวกำบังคลื่นลมเพื่อหลบลมพายุ ชาวมอแกนในจังหวัดพังงา อาศัยอยู่บริเวณริมหาดอ่าวบอนใหญ่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

                  ชาวมอแกนยังคงหากินกับทะเลเหมือนเช่นบรรพบุรุษ และเนื่องจากชาวมอแกนเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นคนไม่มีสัญชาติ และไม่มีเชื้อชาติ ชาวมอแกนไม่มีความรู้ ไม่ได้รับการศึกษาทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชาวมอแกนยังคงเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย และเพื่อให้ชาวมอแกนมีความรู้ สามารถติดต่อสื่อสารกับคนไทยได้ อย่างถูกต้องและเข้าใจชาวมอแกนมีพิธีประจำปี คือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ (เหนียะเอนหล่อโบง) มอแกนจะมารวมกันเพื่อบวงสรวงบูชาวิญญาณให้ปกป้องคุ้มครองพวกตน ในระหว่านั้นมอแกนจะหยุดพักการทำมาหากิน ในพิธีกรรม จะประกอบด้วยการเข้าทรงเสี่ยงทาย การเล่นดนตรี ร้องรำ ทำเพลง และมีการลอยกำบางจำลอง ถือว่าเป็นการลอยความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บให้พ้นจากครอบครัว จากชุมชน นอกจากนี้ มอแกนยังมีความเชื่อดั้งเดิมซึ่งเน้นวิญญาณนิยม เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งรวมทั้งผีบรรพบุรุษและผีต่างๆ ในธรรมชาติ มีอำนาจในการให้เกิดผลร้ายผลดี ปกป้องคุ้มครองหรือทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขการเยียวยาด้วยการเข้าทรง และเซ่นไหว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ มอแกนจะใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรคด้วยในด้านของสังคมการครองเรือน ชายหญิงมอแกนมักจะแต่งงานอยู่กินตั้งแต่อายุยังน้อย ยึดประเพณีผัวเดียวเมียเดียว จะไม่เปลี่ยนคู่ครองนอกจากสามีหรืออภรรยาเสียชีวิตลง หรือมีปัญหาขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจึงแยกจากกัน ลูก ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญในครอบครัว มอแกนแต่ละครอบครัวจะมีลูกประมาณ 2-5 คน เนื่องจากความห่างไกลจากการบริการพื้นฐานสาธารณสุขทำให้จำนวนประชากรมอแกนค่อนข้างจะคงที่
                    ศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ใช้หลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กและเยาวชนชาวมอแกน ซึ่งแบ่งออกเป็น2 ระดับชั้น คือ ระดับก่อนประถมศึกษา อายุ 3-5 ปี จำนวน 20 คน เด็กชาย 7 คน เด็กหญิง 13 คนโดยมีนายธีรยุทธ์ ตาหลี เป็นครูประจำชั้น ผลการจัดการเรียนการสอนและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนระดับก่อนประถมมีพัฒนาการอ่าน ก-ฮ ได้ ร้องเพลงชาติได้ สวดมนต์ ไหว้พระได้ มีพัฒนาการทางการวาดภาพได้ดีครูธีรยุทธ์ ตาหลี พูดถึงการทำหน้าที่ในฐานะเรือหัวโทง ที่จะคอบรับส่งเด็กน้อยชาวมอแกน ให้ ถึงฝั่ง มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ เป็นคนไทยเต็มตัวว่า ผมทำหน้าที่เป็นครูประจำชั้นเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-5 ปี โดยการปูพื้นฐานให้เด็กได้อ่านและเขียน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก สอนนับเลข และให้เขารู้จักฟังคำสั่งและพูดคุยสื่อสารกับเราได้ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะเด็กเล็กฟังภาษาไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง จำนวนของเด็กเล็กก่อนวัยเรียนจะขึ้นๆ ลงๆ เพราะบางส่วนก็เดินทางไปเยี่ยมญาติกับพ่อแม่ที่ประเทศพม่าในเรื่องของการใช้ชีวิต ต้องบอกว่าที่นี่กันดารทุกอย่าง ไม่สามารถสื่อสาร โทรศัพท์ติดต่อกับภายนอกได้ โดยเฉพาะช่วงมรสุมต้องติดเกาะนานกว่าครึ่งปี บางครั้งเปิดวิทยุฟังเพลงก็เป็นเพลงพม่า แม้จะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็สามารถจรรโลงใจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กๆแล้ว ครูที่นี่ต้องรับหน้าที่ทั้งทำอาหาร ช่างตัดผม กรรมการคอยหย่าศึกเวลาที่ครอบครัวชาวมอแกนทะเลาะวิวาทกัน หรือแม้แต่ทำหน้าที่แทนผู้ใหญ่บ้านในโอกาสต่างๆ เวลาที่ชาวมอแกนเจ็บไข้ หรือป่วยหนัก แม้จะเป็นเวลาดึกดื่น ตี 1 ตี 2 ตนก็จะเข้าไปช่วยดูแล แม้ว่าจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่คิดว่าแค่ขอเป็นกำลังใจก็ยังดี

ชีวิตการเป็นครูอาสาฯ ของครูธีรยุทธ เริ่มต้นขึ้น หลังจากปลดประจำการณ์จากการเป็นรั้วของชาติ ในฐานะของทหารเกณฑ์ โดยได้เข้าสมัครเป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน และเดินทางมาอยู่ที่ศูนย์การเรียนชาวมอแกนแห่งนี้มานานเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะอยากลองสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอแกน ซึ่งการจบการศึกษา ปวส.ด้านไฟฟ้ากำลัง ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เรือจ้างของครูธีรยุทธ แม้แต่น้อย ตรงกันข้าม เรือจ้างในแบบของครูธีรยุทธกลับมีความกระตือรือร้น และมีวิญญาณที่สูงส่งของความเป็นครูที่จะถ่ายทอดภูมิรู้แก่ลูกศิษย์ของเขาอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย

การจัดการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ในระดับประถมศึกษา จัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก อายุ 6 ปีขึ้นไป จำนวน 22 คน ระดับ ป.1 จำนวน 13 คน แยกเป็น ชาย 8 คน หญิง 5 คนระดับ ป.4 จำนวน 9 คน แยกเป็นชาย 3 คน หญิง 6 คน โดยมีนายชนะ แก้วกุดัง เป็นครูประจำชั้น ผลการจัดการเรียนการสอนและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนของเด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 1 คือเขียน ก- ฮ ได้ นับเลขได้ เขียนตามคำบอกได้ วาดภาพระบายสีได้ ร้องเพลงชาติไทย สวดมนต์ไหว้พระได้ ร้องเพลงที่ครูสอนได้เองและท่องสูตรคูณได้ สำหรับพัฒนาการเกี่ยวกับผลการจัดการเรียนการสอนและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนระดับประถมปีที่ 4 คือ เขียนเรียงความตามหัวข้อที่ครูกำหนดให้ เป็นพี่เลี้ยงสอนน้องได้ วาดภาพระบายสีได้ตามจินตนาการ มีพัฒนาการด้านภาษาไทยที่ดี สามารถเขียนโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ระดับ คูณ หาร สามารถใช้สื่อการสอนตามหลักสูตรฉบับร่างได้ตามช่วงชั้นของเด็ก ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 61 คน แบ่งเป็นระดับก่อนประถม 39 คน ประถม 1 จำนวน 13 คน ประถม 4 –5 จำนวน 9 คน

ครูชนะ เล่าถึงการทำหน้าที่ครูประจำชั้นของเด็กระดับประถมศึกษา ในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ซึ่งเป็นเด็กโตและผ่านการปูพื้นฐานภาษาไทยมาแล้วระดับหนึ่ง จึงมีความคิดและมีโลกทัศน์เป็นของตัวของตัวเองมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนค่อนข้างยาก เพราะจะต้องบูรณาการการเรียนการสอนให้เข้ากับสภาพปัญหาและความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของกลุ่มชนชาวมอแกน เนื่องจากแนวทางหลักสูตรของ กศน.ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนอย่างเดียว แต่ได้สอนให้เด็กรู้จักคิดเป็น และเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม โดยสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนได้มอบหมาย ให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคใต้และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพังงาจัดทำหลักสูตรสื่อการสอนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือชาวไทยมอแกน โดยการลงไปศึกษาและเก็บข้อมูลสภาพความเป็นอยู่ชาวไทยมอแกน เพื่อนำมากำหนดกรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการเขียนโครงสร้างหลักสูตรและรายละเอียดของหลักสูตร จัดทำคู่มือการดำเนินงาน และมีคู่มือฉบับร่างออกมาให้ทดลองใช้หลักสูตร เมื่อได้ทดลองหลักสูตรไประยะหนึ่งแล้วจึงได้มีการติดตามผลการใช้หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ทำการปรับปรุงหลักสูตรและจัดพิมพ์เข้าเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ในปลายปีงบประมาณ 2550 นี้

นอกจากนี้ ครูชนะ ได้พูดถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กๆ ชาวมอแกนว่า ปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนที่นี่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปากท้อง เด็กโตจะขาดเรียนบ่อยมาก เพราะต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงต้องปรับ โดยในช่วงเช้าจะให้เด็กทำกิจกรรมนันทนาการตามสภาพและความเหมาะสมให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียนได้สัมผัสถึงวิถีชีวิต เนื่องจากในช่วงเกาะเปิด ซึ่งเป็นช่วงที่หมดฤดูมรสุมจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชาวมอแกน ส่วนช่วงบ่ายจะจัดการเรียนการสอนที่เป็นวิชาการเต็มที่ ซึ่งผลของการจัดการเรียนการสอนให้เด็กชาวมอแกน ที่ผ่านมา ประเมินในภสพรวมว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ชนเผ่ามองเห็นความสำคัญของการศึกษา เหมือนกับการให้ลูกเอาเบ็ดออกไปตกปลา หรือการออกไปจับสัตว์ทะเล ซึ่งมันมองเห็นผลทันที ว่าไปแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากเข้ารับการศึกษาที่มองเห็นจากเด็กชาวมอแกนได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ คือ การที่เด็กๆ เหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาด และสุขอนามัยมากขึ้น รู้จักล้างมือก่อนกินข้าว อาบน้ำก่อนมาเรียน รู้จักที่จะขับถ่ายในห้องน้ำ แทนที่จะขับถ่ายตามที่ต่างๆ เหมือนที่เคยทำมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เด็กๆ เขานำไปขยายผลไปยังพ่อแม่ และหมู่บ้านของเขาให้มีสุขอนามัยที่ดีขึ้นด้วย และเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์

ดังพระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2530 ตอนหนึ่ง ว่า

“ ...อย่างเราๆ นั้นมีโอกาสที่ดีมาก มีอาหารการกินที่ดีทุกอย่าง อยากได้อะไรก็ได้ และยังมีโอกาสได้รับการศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นจะได้รับการศึกษาคงจะไปไม่ถึงระดับที่เราได้ ส่วนที่เราได้รับก็เป็นการพิเศษแล้ว เพราะฉะนั้นในเมื่อเราเป็นบุคคลพิเศษได้โอกาสดีกว่าคนอื่น ก็เท่ากับประชาชนทั้งชาติสนับสนุนมา ให้ทุนมา ให้ศึกษาได้ถึงระดับอุดมศึกษา ก็จะต้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรตอบแทน เพื่อให้ผู้ร่วมชาติที่สนับสนุนเราได้มีโอกาสที่ดีขึ้นกว่านี้... ”

ครูชนะ กล่าวถึงการเข้าไปจัดการเรียนการสอนแก่ชาวมอแกน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนานว่า การเข้ามาของเรามีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาและการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้นำความเจริญจากภายนอกเข้ามาทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขาเลย เช่น ประเพณีการไหว้เสาเหล่าโบง หรือประเพณีการไหว้บรรพบุรุษ วันลอยเรือเดือน 10 ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวมอแกน เราก็จะหยุดเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าไปร่วมประเพณีของชนเผ่า เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีให้ดำรงคงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

จากประสบการณ์การสอนเด็กๆ ชาวมอแกนของครูทั้งสอง พบว่าเด็กสนุกสนานกับการเรียนรู้อย่างมาก ครูทั้งสองเองก็ไม่ได้ยึดห้องเรียนเป็นหลัก ครูจะพาเด็กๆ เดินไปรอบหมู่บ้าน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้แก่พวกเขา และยังสามารถต่อยอดการสื่อสารไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่ควรต้องเปลี่ยน และไม่อยากให้อนุรักษ์ไว้ คือ การถ่ายอุจจาระริมหาดในยามเช้าของผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่มีส้วมให้แล้วในหลายจุด อีกสิ่งที่ไม่ควรอนุรักษ์ คือสัตว์โลกตัวเล็กที่อาศัยอยู่บนศรีษะของเด็กๆ ชาวมอแกน คือ “ เหา ” ซึ่งภายหลังจากได้รับบริการทางการศึกษา “ เหา ” เริ่มหายไปจากศรีษะเด็กๆ มอแกนแล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่พบคือ ชาวบ้านรู้จักที่จะปลูกผักไว้กินเอง สังเกตจากบริเวณหลังบ้านจะเริ่มปลูกฟักทอง มะละกอกันมากขึ้น ส่วนในเรื่องของการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยผ่านการเรียนรู้วิชาชีพที่ผู้ใหญ่ชาวมอแกนอยากเรียน ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะส่งเสริมเรื่องการสื่อสารภาษาไทยได้ เช่นการสอนอาชีพจักสานกระบุง การแกะเรือจากไม้เพื่อขายเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้มาเยือน ซึ่งนับว่าการใช้ภาไทย ก็มีความจำเป็นไม่น้อยสำหรับชาวมอแกน ตราบที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ยังคงหลงไหลมนต์เสน่ห์ของประการังที่สวยงามบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ และยังมีมนต์ขลังแห่งวิถีชีวิตของชาวมอแกนเป็นแรงดึงดูด ชาวมอแกนเองก็ต้องให้ความสำคัญกับภาษาไทยในที่สุด

ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวมอแกน มีผู้เคยรวบรวมประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมตลอดจนการทำมาหากินของชาวมอแกน ซึ่งจัดอันดับสิบคำถามยอดนิยมเกี่ยวกับมอแกน ซึ่งสามารถบอกถึงที่มาที่ไปของชาวมอแกนได้เป็นอย่างดี ดังนี้

คำถามที่ 1 ต้นตระกูลของมอแกนเป็นใครมาจากไหน เป็นญาติกับซาไกหรือ “ เงาะป่า ” ที่อยู่แถวยะลา พัทลุง ตรัง และสตูลหรือไม่ ?

คำตอบ จากตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนที่มอแกนใช้ และจากการสืบสาวประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่านักเดินทางทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดกันว่ามอแกนคงจะสืบเชื้อสายมาจากพวกโปรโตมาเลย์ ( Proto Malay) ซึ่งเป็นคนพวกแรกๆ ที่อพยพลงมาอยู่แถบคาบสมุทรมลายู ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเล เดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในเมียนม่าร์ ลงไปทางใต้และตะวันออกจนถึงหมู่เกาะในทะเลซูลู ประเทศฟิลิปปินส์ และแถมเอาหลายๆ เกาะและชายฝั่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียไว้ด้วย แต่ปัจจุบันการเดินทางจำกัดลงมาก และคนกลุ่มเหล่านี้ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกัน พัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมและภาษาก็ต่างกันออกไปจนแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม

มอแกนกับซาไก (อันที่จริงควรเรียกว่า “ มันนิ ” ซึ่งเป็นชื่อที่เค้าเรียกตัวเอง) ไม่ได้เป็นญาติกัน ลักษณะทางกายภาพก็ต่างกัน มันนิเป็นพวกเนกริโต ในขณะที่มอแกนเป็นพวกโปรโตมาเลย์ นอกจากนี้มอแกนไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากพวกชนพื้นเมืองของหมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามันในประเทศอินเดีย ชนพื้นเมืองที่นั่นก็มีหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เป็นเนกริโต

ในเรื่องของภาษาก็ต่างกันด้วย มันนิพูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งเป็นภาษากลุ่มมอญ เขมร มันนิเองก็มีกลุ่มย่อยๆ ที่มีภาษาถิ่นต่างกันออกไปอีก มันนิส่วนหนึ่งพูดภาษามลายูได้ และมอแกนหลายคนก็พูดภาษามลายูได้ ดังนั้น มอแกนกับมันนิสื่อสารกันได้ด้วยภาษากลางเช่น ภาษามลายูหรือภาษาไทย แต่ถ้าให้เจรจากันด้วยภาษาของตัวเองแล้ว ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันไม่ได้ อาจต้องใช้ภาษาใบ้ประกอบเป็นส่วนใหญ่

คำถามที่ 2 ชาวเลในเมืองไทยมีกี่กลุ่ม ?

ชาวเลในเมืองไทยมี 3 กลุ่ม คือ 1) มอแกน 2) มอแกลน (ซึ่งมอแกนเรียกว่า “ ออลัง ตามับ ”) และ 3) อูรักลาโว้ย มอแกนและมอแกลนมีภาษาใกล้เคียงกันมาก ส่วนภาษาอูรักลาโว้ยนั้น แม้จะเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนเหมือนกัน แต่ก็พูดกับมอแกนและมอแกลนไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์และสำเนียงต่างกัน อูรักลาโว้ยและมอแกลนตั้งหลักแหล่งค่อนข้างถาวร และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปค่อนข้างมากจนกลายเป็นคนไทยไปแล้ว และมักถูกเรียกขาน (รวมทั้งเรียกตนเองด้วย) ว่า “ ไทยใหม่ ”

คำถามที่ 3 มอแกนแปลว่าอะไร ?

นักมานุษยวิทยา Jacques Ivanoff สันนิษฐานว่าชื่อมอแกนเป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า “ ละมอ ” ( ภาษามอแกน แปลว่า จม) และ “ แกน ” ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวของราชินีในตำนานเก่าแก่ของมอแกน คือว่าตำนานนี้ค่อนข้างยาว แต่สรุปได้ว่าน้องสาวคนนี้ไปแย่งคนรักของพี่สาว จึงถูกสาปแช่งให้ตนเองและพรรคพวกต้องมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเล ถ้าอยากรู้รายละเอียด (อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือประมวลตำนานมอแกน ชื่อ Rings of Coral )

คำถามที่ 4 มอแกนนับถือศาสนาอะไร ?

มอแกนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษที่มี
“ หล่อโบง ” หรือเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ทั้งชาย (แอบ๊าบ) และหญิง (เอบูม) เป็นสัญลักษณ์ มอแกนมีพิธีฉลองที่สำคัญประจำปีคือพิธี “ เหนียะเอ็นหล่อโบง ” หรือการฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งบางทีในพิธีนี้ก็มีการลอยเรือสะเดาะเคราะห์คล้ายๆ กับ อูรักลาโว้ยที่ภูเก็ต ลันตา หรือลิเป๊ะ ในขณะที่อูรักลาโว้ยเรียกเรือสะเดาะเคราะห์ว่า “ ปลาจั๊ก ” ชาวเลมอแกนเรียกเรือนี้ว่า “ หล่าจัง ” การลอยเรือมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน คือเพื่อนำเอาเคราะห์ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์โศกต่างๆ ออกไปจากชุมชน

ส่วนพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษของมอแกนนั้น จัดขึ้นในวันข้างขึ้น เดือนห้าทางจันทรคติ มอแกนจะไม่ออกไปทำมาหากินเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ในช่วงนั้น จะมีงานฉลอง ที่มีการดื่มกิน การเล่นดนตรีร่ายรำ การเข้าทรงทำนายโชคชะตาของหมู่บ้าน และมีญาติพี่น้องจากเกาะต่างๆ มาพบปะสังสรรค์กัน

คำถามที่ 5 ไหนล่ะ เรือไม้ระกำของมอแกน ?

เรือมอแกนที่เห็นกันอยู่ไม่ใช่เรือไม้ระกำ (ไม้ระกำมีลักษณะเป็นท่อนเล็กเรียวแบบต้นอ้อย) สมัยนี้มอแกนใช้ไม้กระดานทำเรือกันหมดแล้ว เรือไม้ระกำเหลือเพียงไม่กี่ลำในพม่า มอแกนส่วนใหญ่เลิกใช้ไม้ระกำเสริมกราบเรือแล้ว เพราะไม้ระกำมีอายุใช้งานเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น มอแกนหันมาใช้ไม้กระดานเนื่องจากมีความคงทน ใช้ได้นานหลายปี ส่วนมาดเรือนั้นใช้ได้นานหลายสิบปี และบางทียังสืบทอดมาถึงรุ่นลูกหลานด้วย หลังจากที่มอแกนหันมาใช้ไม้กระดาน ใบเรือก็หมดประโยชน์ใช้สอยไปด้วย เนื่องจากเรือไม้กระดานมีน้ำหนักมาก ต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

คำถามที่ 6 อาหารหลักของมอแกนคืออะไร ?

ในสมัยก่อน อาหารหลักของมอแกนคือหัวมัน หัวกลอย พืชผัก ยอดไม้ ผลไม้ป่า ปลา ปู หอยชนิดต่างๆ ข้าวถือว่าเป็นอาหารพิเศษที่หาได้ยาก ต่อมาเมื่อมอแกนถูกดึงเข้ามาในระบบค้าขายแลกเปลี่ยน ข้าวจึงกลายเป็นอาหารหลัก และยังเป็นเครื่องประกันความอิ่มท้องเพราะเก็บรักษาได้นานไม่เหมือนอาหารสดอื่นๆ ที่เน่าเสียได้ง่าย มอแกนขายเปลือกหอยและสัตว์ทะเลเพื่อซื้อข้าวสารตุนเอาไว้เป็นกระสอบๆ โดยเฉพาะในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่การออกทะเลค่อนข้างยากลำบาก

กับข้าวของมอแกนมักจะต้ม ย่าง ทอด หรือผัด ถ้ามีเครื่องปรุงเช่น พริก หอม กระเทียม ตะไคร้ น้ำปลา น้ำตาล ก็จะใส่ลงไปให้รสชาติเข้มข้น “ ช่อบาย ” หรือกับข้าวของมอแกนมักจะมีรสเผ็ดเป็นหลัก

สมัยนี้มอแกนหันมาติดใจอาหารขยะ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ขนมถุง และน้ำอัดลมกระป๋อง ซึ่ง อาหารที่คุณค่าโภชนาการต่ำแบบนี้ ทำให้สุขภาพมอแกนย่ำแย่ลง มอแกนอยู่ไกลหมอ ถ้าเจ็บไข้ไม่สบายจะทำอย่างไร ? และถ้าเด็กๆ มอแกนฟันผุเค้าจะไปหาหมอฟันที่ไหน จึงเป็นข้อสังเกตุว่าไม่ควรนำอาหารขยะไปให้มอแกน ควรให้ข้าวสาร เพราะมีประโยชน์ และเก็บไว้ได้นาน ผลไม้สด ผักสด และอาหารแห้ง

คำถามที่ 7 มีมอแกนที่ไหนอีก ?

หมู่เกาะมะริดในเมียนมาร์ยังมีประชากรมอแกนอีกนับพัน พม่าเรียกมอแกนว่า ซลัง เซลัง หรือ ซาเลา ( Selon) สันนิษฐานว่าคำนี้คงจะมาจากคำว่าฉลางหรือถลาง ซึ่งเป็นชื่อโบราณของภูเก็ต ( Junk Selon) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวเลมาชุมนุมกันอยู่มากในสมัยก่อน

คำถามที่ 8 ถ้าเจ็บไข้ไม่สบายมอแกนทำอย่างไร ?

มอแกนมีหมอพื้นบ้านที่รักษาโดยการเข้าทรง เพื่อเจรจากับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขอให้ปัดเป่าความเจ็บป่วยออกไป มอแกนใช้สมุนไพรหลายอย่างด้วย ส่วนการคลอด มอแกนยังใช้หมอตำแย ซึ่งเป็นคนแก่เฒ่าชาวมอแกนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำคลอดเป็นอย่างดี สมัยนี้มอแกนหันมาใช้ยาและการรักษาสมัยใหม่มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีคลอดโดยหมอตำแยอยู่ และยังรักษาประเพณีการอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

คำถามที่ 9 ทำไมในหมู่บ้านมอแกนมีผู้หญิงเยอะ ?

เมื่อเข้าไปหมู่บ้านมอแกนที่เกาะสุรินทร์ จะสังเกตเห็นว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายมักจะออกทะเลแทบทุกวัน บางทีเดินทางไกลไปยังเกาะต่างๆ ในพม่าเพื่อจับปลา งมหอยและปลิงทะเล เราจึงไม่ค่อยเห็นผู้ชายมอแกนในหมู่บ้าน ยกเว้นวันที่พวกเขาหยุดพักจากการออกทะเล นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ชายต้องดำน้ำลึก และเสี่ยงต่อภัยอันตรายต่างๆ จึงตายเร็วกว่า หากนับจำนวนประชากรแล้ว ผู้หญิงมอแกนจึงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย

ในปัจจุบัน ผู้ชายบางคนติดสารเสพติด ทั้งยังต้องทำงานตรากตรำยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาซื้อข้าวสารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ช่วงชีวิตจึงยิ่งสั้นขึ้น

คำถามที่ 10 มอแกนถือสัญชาติอะไร ?

ที่เกาะสุรินทร์มีมอแกน 4-5 คนเท่านั้น ที่มีสัญชาติและบัตรประชาชนไทย ส่วนใหญ่ยังไร้สัญชาติและยังไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะพลเมืองไทย หน่วยงานรัฐคงจะเห็นว่ามอแกนเป็นกลุ่มเร่ร่อนที่เดินทางไปมาข้ามพรมแดนไทย-เมียนมาร์อยู่บ่อยครั้ง แต่จริงๆ แล้ว มอแกนกลุ่มนี้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เกาะสุรินทร์มาก่อนจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เด็กๆ หลายคนเกิดที่นี่ และถือว่าเกาะสุรินทร์เป็นบ้านของเขา ขณะนี้ชาวมอแกนมีเลข 13 หลักแล้วกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด ซึ่งทางอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นผู้ดำเนินการอำนวยความสะดวกในจุดนี้

ปัจจุบัน หมู่บ้านของชาวมอแกนตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ซึ่งนอกจากทำมาหากินกับการงมหอย จับปู ตกปลา แล้ว ปัจจุบันชาวมอแกนยังมีรายได้เพิ่มจากการใช้เรือหาปลาของพวกเขา รับส่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำชมประการังในช่วงเวลาเปิดเกาะที่ปลอดจากฤดูมรสุม ซึ่งเป็นอีกพระประสงค์หนึ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริม คือเรื่องของอาชีพ และการทำมาหากิน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสให้สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน จัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพังงา และศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอคุระบุรี โดยจัดการศึกษาในรูปแบบเดียวกันกับโครงการการจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบท หน้าที่หลักของศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ คือการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้เด็กชาวมอแกน สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ สอนให้เขารู้จักสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ตลอดจนส่งเสริมและสอนอาชีพให้ชาวมอแกนได้มีอาชีพเสริมรายได้ด้วย แต่การเข้าไปจัดการศึกษาแก่เด็กๆชาวมอแกนของ กศน.ก็มีคำถามจากหลายฝ่ายว่า การเข้าไปจัดการศึกษาจะเป็นการทำลายวิถีชีวิตของชาวมอแกนหรือไม่ เพราะหน่วยงานด้านการศึกษาจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนา ในขณะที่หน่วยงานด้านอนุรักษ์ต้องการให้คงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกนไว้ การจัดการศึกษาของ กศนง จึงเป็นการจัดการศึกษาแบบพัฒนาเพื่ออนุรักษ์ ซึ่งหมายถึง การให้ความรู้เพื่อให้ชาวมอแกนมีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีขึ้น สามารถเรียนรู้ถึงขั้นอ่านออกเขียนได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมเดิมของเขา ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดที่ยากและต้องใช้กลยุทธ์และจิตวิทยาในการจัดการเรียนการสอนในระดับที่ค่อนข้างสูงทีเดียว

ครูชนะ และครูธีรยุทธ์ สองหนุ่มที่เรียกได้ว่าสละความสุขส่วนตัวมารับหน้าที่ครูอาสาฯ ของ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กินเงินเดือนจากสำนักพระราชวัง ทุ่มเทแรงใจทำงานเพื่อสนองพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เพราะผลลัพท์ที่มองเห็นจากการจัดการเรียนการสอน ที่ส่งผลให้เด็กน้อยชาวมอแกนค่อยๆ มีพัฒนาการทางด้านบวก ลูกศิษย์ของพวกเขาสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ สื่อสารกับครูและนักท่องเที่ยวรู้เรื่อง นอกจากนี้ เรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขอนามัย การขับถ่ายในห้องสุขา ล้างมือก่อนกินข้าว รู้จักอาบน้ำ สระผม รักษาเหาที่เป็นปัญหาเรื้อรังของเด็กชาวมอแกนได้ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ นี่คือความหวังของครูเล็กๆ 2 คน ที่เขาไม่ได้หวังตำแหน่งใหญ่โต ไม่ได้หวังจะนั่งทำงานสบายๆ ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ สิ่งที่พวกเขาหวังคือ การได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท และการได้มองเห็นพัฒนาการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชนกลุ่มน้อยชาวเล กลุ่มนี้ ที่เรารู้จักกันในนามของ “ มอแกน ”

 

****************************************

.